ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต" สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 vibhavadirangsitfoundation.com
ซ่อนหน้าต่าง
 


ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพวงมาลา อนุสาวรีย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
ณ ค่ายวิภาวดีรังสิต

 

        ภายหลังจากที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ทรงวิตกกังวลว่าพระกรณียกิจของพระองค์หญิงในด้านการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนทางภาคใต้จะหยุดชะงักลง จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิวิภาวดีรังสิตขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2520 เพื่อเป็นอนุสรณ์และสืบทอดงานของพระองค์หญิงต่อไป กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2520 เลขทะเบียน 999

        “ให้การช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารที่ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือบุคคลที่ประสบภัย ส่งเสริมการศึกษาและให้ความรู้แก่เยาวชน ส่งเสริมพระพุทธฺศาสนาและช่วยเหลือกิจการสงฆ์ ให้การช่วยเหลือในด้านการพัฒนาชุมชนและวางแผนครบครัว ส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปะหัตกรรมพื้นบ้าน สนับสนุนกิจการ พิพิธภัณฑ์และเผยแพร่ความรู้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

        การดำเนินงานของมูลนิธิฯ จำกัดอยู่ภายในเขตภาคใต้เท่านั้น เพราะเป็นท้องถิ่นที่พระองค์หญิงได้ทรงปฏิบัติภารกิจเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ การดำเนินงานของมูลนิธิฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต
พิธีทำบุญส่งตา-ยาย และวางพวงมาลา
อนุสาวรีย์พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตณวัดดอนสัก

        ภายหลังจากที่หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิฯ ถึงชีพิตักษัย ใน พ.ศ. 2533 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแทนต่อมาท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในปี พ.ศ. 2543 และได้ลาออกในปี 2548 คณะกรรมการจึงแต่งตั้ง ม.ร.ว. ปรียนันทนา รังสิต เป็นประธานกรรมการแทน
มูลนิธิวิภาวดีรังสิตเป็นมูลนิธิขนาดเล็กที่ให้การช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารอย่างต่อเนื่องตามกำลังและความสามารถของมูลนิธิฯ มาเป็นเวลา 30 ปี และมีผลงานโดยสังเขป ดังนี้

        ในช่วง 10 ปีแรกมูลนิธิฯ ได้ให้บริการใส่ขาเทียมแก่ผู้ที่ประสบภัย รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยเรื้อรังและผู้ที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด การช่วยเหลือนี้ทำให้คนเหล่านั้นกลับมามีโอกาสดำรงชีวิตไหม้และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือแจกยารักษาโรค ผ้าห่ม มอบเครื่องแบบนักเรียนพร้อมอุปกรณ์การศึกษาและมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เรียนดีแต่ครบครัวมีฐานะยากจนแล้วกว่า 2,000 ทุน

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต
หม่อมเจ้าปิยะรังสิต ประทานเงินจำนวน 140,000 บาทให้แก่รองอธิบดีกรม อาชีวศึกษา นำไปสร้างสถานีอนามัย ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอประทิว จังหวัด ชุมพร ที่ถูกพายุเกย์พัดพังเพื่อทดแทนหลังเดิมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2532

        มูลนิธิฯ มีความประสงค์ที่จะเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาที่มอบให้โรงเรียนภาคใต้ให้มากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2548 มูลนิธิได้มอบทุนการศึกษา จำนวน 231 ทุน แก่ 114 โรงเรียน และในปี 2549 มูลนิธิได้มอบทุนการศึกษา จำนวน 269 ทุน แก่ 123 โรงเรียน นอกจากนั้น มูลนิธิฯ ยังได้มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนมาเป็นเวลา 4 ปี รวมทั้งสิ้น 304 ทุน

        มูลนิธิฯ ได้จัดสร้างห้องสมุดขนาดเล็ก ให้การสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนและสร้างถังเก็บน้ำฝนตามโรงเรียนต่างๆ มูลนิธิฯ ได้ริเริ่ม “โครงการทำหมันเคลื่อนที่” ขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคใต้ โดยบริจาครถยนต์และอุปกรณ์เพื่อใช้เป็นคลินิกทำหมันเคลื่อนที่รวม 2 คัน ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง และได้ออกให้บริการทำหมันเคลื่อนที่แก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารแล้วประมาณ 10,000 ราย จนกระทั่งในปี 2549 มูลนิธิฯ ได้บริจาครถทำหมันเคลื่อนที่คันสุดท้ายให้แก่วัดสวนแก้วจังหวัดนนทบุรี

        นอกจากนั้น มูลนิธิฯ ได้สร้างศาลาอเนกประสงค์ถวายวัดเพื่อให้ทางวัดและประชาชนในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ ได้สนับสนุนการซ่อมแซมพระอุโบสถหลายแห่ง ให้เงินบำรุงสำนักสงฆ์และสนับสนุนการสร้างมณฑปควนพระพุทธบาท เพื่อเป็นศูนย์รวมพุทธศรัทธาของประชาชน

        สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติในภาคใต้นั้น มูลนิธิฯ ได้บริจาคสิ่งของและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นสึนามิในจังหวัดภูเก็ตและพังงา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลายจังหวัด มูลนิธิฯ ได้มอบเงินบำรุงขวัญครูเป็นกรณีพิเศษจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้มอบเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อนของกลุ่มอาสารักษาหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี มูลนิธิฯ ยังให้การสนับสนุนการทำไร่นาสวนผสมในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย        มูลนิธิฯ มีหลักการดำเนินการโดยมุ่งหวังผลระยะยาวในการส่งเสริมการศึกษาให้ความรู้แก่เยาวชน และการพัฒนาชุมชนและวางแผนครอบครัว โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารที่มีความจำเป็นในการยกระดับความเป็นอยู่รวมทั้งสุขภาพให้ดีขึ้น มูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการที่ชุมชนต่างๆ ทีแนวคิดริเริ่มขึ้นเองและมีความสามารถในการบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง แต่ยังขาดทุนทรัพย์ในการเริ่มดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่ตนเองได้อาศัยอยู่

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต

        การช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารนั้น มูลนิธิฯ ตระหนักดีว่ายังเป็นมูลนิธิขนาดเล็กและมีขีดความสามารถจำกัด การช่วยเหลือของมูลนิธิฯ จึงเปรียบเสมือนการช่วยเหลือเพื่อเป็นกำลังใจต่อผู้ที่มีทุกข์และประสบภัย เป็นการช่วยบรรเทาความทุกข์ยากในขั้นต้น แต่ถึงกระนั้นมูลนิธิฯ ก็ได้พยายามทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับข้อมูลและการบอกกล่าวจากบุคคลต่างๆ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของมูลนิธิฯ เช่น เจ้าอาวาสวัด ครู อาจารย์ และจากบุคคลผู้เสียสละอื่นๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นบุคคลที่ประชาชนในท้องถิ่นให้การยอมรับและมีความเคารพนับถือ        มูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยแรงศรัทธาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ผู้ทรงรักชาติ ศาสนา และทรงมีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำให้มูลนิธิฯ มีกำลังและความสามารถที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่ประชาชน ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ได้มากยิ่งขึ้นต่อไป        กระทรวงการคลังได้ประกาศให้มูลนิธิวิภาวดีรังสิตเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ 277 ของประกาศกระทรวงการคลังฯ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2538         มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านที่ให้ความอนุเคราะห์และให้ความร่วมมือในการสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ ด้วยดีตลอดมา ณ โอกาสนี้ด้วย

คณะกรรมการมูลนิธิวิภาวดีรังสิต