ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต" สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 vibhavadirangsitfoundation.com
ซ่อนหน้าต่าง
 

          การเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในการเด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ทุกภาคในพระราชอาณาจักรเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศรวม 7 ครั้ง ดังนี้ :

          มิถุนายนถึงพฤศจิกายน 2503 เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐโปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี วาติกัน เบลเยียม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน ปี พ.ศ. 2505 โดยเสด็จฯ เยือนประเทศปากีสถาน มาเลเซีย นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ปี พ.ศ. 2506 โดยเสด็จฯเยือนประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน และต่อมาตามเสด็จฯ เยือนประเทศออสเตรเลีย(2509) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีครั้งที่สอง (2509) อิหร่าน แคนาดาและสหรัฐอเมริกาครั้งที่สอง(2510)และในอันดับสุดท้าย ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อเสด็จฯ ออสเตรเลีย ในพิธีถวายสัญญาบัตรและพระยศแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ โรงเรียนนายร้อยดันทรูนในเดือนธันวาคม 2518

          เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประเทศสวีเดน ในงานพระศพพระเจ้ากุสตาฟ VI อดอล์ฟแห่งสวีเดน เมื่อเดือนกันยายน 2516 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตก็ได้โดยเสด็จไปด้วย และได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในด้านการต่างประเทศ “ นอกจากจะทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินีและพระราชวงศ์ของประเทศต่างๆ ในยุโรปและอังกฤษแล้ว พระองค์หญิงยังทรงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นๆ และราชสำนักนั้นๆ อย่างแตกฉานลึกซึ้ง ”

          ในระยะ 10 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้ทางปฏิบัติภารกิจแทนพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านพัฒนาจังหวัดภาคใต้ พระองค์หญิงเสด็จไปถึงบ้านส้องเป็นจุดแรกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2510 เพื่อเสด็จต่อไปยังอำเภอพระแสง ได้ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยความอุตสาหะวิริยะ ไม่ทรงคำนึงถึงความลำบากและเหน็ดเหนื่อยแม้จะต้องเสด็จไปในที่กันดารก็ไม่ทรงย่อท้อ ทรงมุ่งแต่จะช่วยเหลือประชาชนทั้งในทางวัตถุและในทางให้กำลังใจ จนเป็นที่รักใคร่ของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่เรียกพระองค์หญิงว่า “เจ้าแม่”

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต

          พระองค์หญิงทรงเป็นผู้ทำบุญโดยไม่หวังผลบุญ ทรงกระทำทุกอย่างด้วยเมตตาธรรม ทรงแนะนำอาชีพ ส่งเสริมหัตถกรรม การเพาะปลูก หาแพทย์ไปรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วย จัดสิ่งของหยูกยาไปช่วยชาวบ้านผู้ที่ยากไร้ ยกตัวอย่างเช่น อำเภอพระแสงซึ่งเป็นเมืองปิดมาก่อน พระองค์หญิงได้ทรงสร้างพระแสงให้มีแสงสว่างรุ่งโรจน์ การคมนาคมติดต่อภายนอกเช้าไปเย็นกลับได้อย่างสะดวกสบาย พระองค์หญิงได้ทรงบุกบั่นเสด็จไปทุกหนแห่งที่ทรงเห็นว่าราษฎรมีความทุกข์ยาก โดยใช้มอเตอร์ไซค์ ขี่ช้าง นั่งเรือหางยาวหรือเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิเมตร เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรอยู่เสมอมิได้ขาด จึงได้รับฉายานามว่า “เจ้าแม่พระแสง”

          อำเภอพระแสงเต็มไปด้วยอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์หญิง มีทั้งถนนวิภาวดี ศาลาวิภาวดี นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านที่ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านท่านหญิง” อยู่ในแหล่งซึ่งน้อยคนจะเข้าไปถึง คือตำบลตะกุกเหนือ อำเภอคีรีรัฐนิคม ในหมู่บ้านนั้นมีโรงเรียนหลังหนึ่งซึ่งพระองค์หญิงทรงสร้างขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนที่นอกเหนือไปจากเงินเบี้ยกันดารเป็นประจำทุกเดือน โรงเรียนนี้มีชื่อว่า “โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา” แม้แต่น้ำตกที่พระองค์หญิงเสด็จไปพักผ่อนบ่อยครั้ง ราษฎรก็ขนานนามว่า “น้ำตกวิภาวดี” หรือ “น้ำตกท่านหญิง”



ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต