ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต" สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 vibhavadirangsitfoundation.com
ซ่อนหน้าต่าง
 
        พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงสืบเชื้อสายมาจากนักประพันธ์ใหญ่สองพระองค์ คือ ทรงเป็นพระธิดาของท่าน น.ม.ส. รัตนกวี และพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ จึงทรงรักการอ่านหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ท่าน น.ม.ส. เคยมีพระประสงค์จะให้พระองค์หญิงทำหน้าที่บรรณารักษ์จัดหนังสือในห้องสมุดส่วนพระองค์ แต่พระองค์หญิงสนพระทัยต่อการอ่านมากกว่าการจัด ทรงจับเล่มไหนได้ก็ทรงอ่านไปจนจบ แทบจะไม่ได้จัดหนังสือเลย ท่าน น.ม.ส. จึงทรงหาคนอื่นมาจัดแทน และทรงให้พระองค์หญิงทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ช่วยค้นหนังสือหรือจดตามรับสั่ง

        พระองค์หญิงโปรดการเขียนหนังสือมาตั้งแต่พระเยาว์ “เด็กจอมแก่น”เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ทรงนิพนธ์เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประมวญสารสัปดาห์ละครั้ง หนังสือพิมพ์นี้ท่าน น.ม.ส. และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี ทรงเป็นบรรณาธิการ
        นวนิยายเรื่องที่สองที่ทรงนิพนธ์คือ เรื่อง “ปริศนา” ทรงเขียนระหว่างสงครามโลกครั้ง 2 ขณะที่พระชนมายุ 18-19 พรรษา ได้ทรงเตรียมจะนำลงในหนังสือพิมพ์ประมวญวัน แต่บังเอิญไฟไหม้สำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเสียก่อน พระองค์หญิงทรงวิ่งฝ่าเพลิงเข้าไปหยิบต้นฉบับออกมาได้ และได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ วันจันทร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2596 จนจบเรื่อง
        พระองค์หญิงทรงสร้างตัวละครทุกตัวอย่างประณีต เข้าพระทัยในความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างดี อุปนิสัยบางอย่างของ “ปริศนา” เป็นของพระองค์หญิงเอง เช่น นิสัยชอบเล่นและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ยิ่งกว่านั้นสิ่งใดที่พระองค์หญิงโปรดเป็นพิเศษก็ได้ทรงเขียนไว้ในเรื่อง “ปริศนา” กระโปรงขาวบานสำหรับงานราตรี เข็มกลัดรูปดอกไม้ที่ท่านแม่ประทานในวันประสูติ ปรากฏว่า “ปริศนา” มีของอย่างเดียวกันนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นการบังเอิญอย่างประหลาดที่หม่อมเจ้าพจนปรีชาในเรื่อง “ปริศนา” ซึ่งพระองค์หญิงทรงวาดขึ้นอย่างโก้หรู มีความรู้ความสามารถ มีน้ำพระทัยดีและยังทรงพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันได้ดีอีกด้วย กลับกลายเป็นคุณสมบัติของหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระสวามีในชีวิตจริง พระองค์หญิงทางแต่งเรื่อง “ปริศนา” ด้วยความสนุกเพลิดเพลินและทรงแทรกอารมณ์ขันไว้เสมอ ในบางตอนเมื่อทรงเขียนแล้วก็ทรงพระสรวลเอง

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต



        ต่อมาพระองค์หญิงทรงแต่งเรื่อง “เจ้าสาวของอานันท์” และ “รัตนาวดี” ขึ้นอีกโดยใช้ตัวละครชุดเดียวกับ “ปริศนา” เพราะผู้อ่านสนใจใคร่จะทราบเรื่องของ “ปริศนา” ต่อไป ต่างก็รู้สึกพอใจที่ทราบว่าต่อมา “ปริศนา” มีลูกแฝด และยังได้เฝ้าติดตามเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ด้วย

        นวนิยายเรื่อง “ รัตนาวดี ” ใช้ฉากในยุโรปเพราะเป็นเรื่องเที่ยวยุโรป แต่เขียนเป็นเรื่องอ่านเล่น เป็นเรื่องที่ผู้ทรงพระนิพนธ์พอพระทัยมากที่สุด และทรงเห็นว่ามีคุณค่าทางการประพันธ์มากกว่าเรื่อง “ ปริศนา ” โดยทรงใช้บันทึกการเดินทางของพระองค์เองและพระสวามีเป็นรากฐาน ส่วนตัวละครและการดำเนินเรื่องเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ทั้งสนุกสนานและให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในยุโรป ทรงใช้วิธีแต่งในรูปแบบของจดหมาย

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต

        หนังสือเรื่องนี้หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ทรงเลือกมาพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์หญิงอีกด้วย “ เพื่อหวนไปรำลึกความหลังอันอ่อนหวาน อ่อนโยน และรื่นรมย์นั่นเอง ทั้งที่เมื่อกลับไปอ่านแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากความปวดร้าวหัวใจและน้ำตาไหลหลั่งด้วยความอาลัยอาวรณ์อย่างสุดซึ้ง ”

        นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงนิพนธ์ได้แก่ “ นิกกับพิม ” ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง เป็นสุนัขที่พูดคุยกันได้เหมือนคนจริงๆ พระองค์หญิงทรงสร้างตัวละครนี้ขึ้นด้วยความเข้าพระทัยในนิสัยและอารมณ์ของสุนัขเป็นอย่างดี ด้วยทรงมีสุนัขอยู่ใกล้ชิดเสมอ จึงสนุกสนานสมจริงเป็นที่พอใจของผู้อ่านจำนวนไม่น้อย

        นอกจากนี้พระองค์หญิงได้ทรงนิพนธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไว้ 3 เล่ม คือ “ พระราชินีวิคตอเรีย ” “ คลั่งเพราะรัก ” และ “ ฤทธีราชินีสาว ” แต่ละเรื่องได้ทรงใช้ความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศค้นคว้าจากหนังสือภาษาต่างประเทศหลายเล่มและใช้เวลานานหลายปี เพื่อที่จะประมวลเนื้องเรื่องเข้าด้วยกันและเขียนให้ชวนอ่านทำนองนวนิยาย จึงนับเป็นวิธีเขียนที่ยากยิ่ง เพราะจะต้องรักษาข้อเท็จจริงต่างๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ และต้องผูกเรื่องให้สนุกสนานน่าอ่านอีกด้วย พระองค์หญิงตั้งพระทัยจะทรงนิพนธ์เรื่อง “ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ” เป็นอันดับสี่ แต่ก็มาด่วนสิ้นพระชนม์เสียก่อนนวนิยายประเภทนี้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์หญิงมากในระยะหลังแห่งพระชนม์ชีพ
                     

        เนื่องจากพระองค์หญิงได้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศหลายครั้งในฐานะนางสนองพระโอษฐ์จึงได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “ ตามเสด็จอเมริกา ” และ “ ตามเสด็จปากีสถาน ” ไว้อย่างชวนอ่านแทรกอารมณ์ขันไว้ตามแบบฉบับพระนิพนธ์แทบทุกเรื่องของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังทรงนิพนธ์เรื่องตามเสด็จ 14 ประเทศ เรื่องตามเสด็จอเมริกาครั้งที่ 2 เรื่องตามเสด็จประเทศอิหร่าน ซึ่งรวมพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ เรื่องหลายรส ” อีกด้วย

        เกียรติประวัติในด้านการประพันธ์อีกอย่างหนึ่งของพระองค์หญิงก็คือหนังสือ “ เรื่องหลายรส ” ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทหนังสืออ่านสำหรับเด็กของคณะกรรมการสวัสดิการเด็ก สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้เด็กเกิดความคิดอ่าน และสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม

        “ เรื่องหลายรส ” นอกจากจะรวมเรื่องตามเสด็จประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องน่าอ่านอื่นๆ เช่น จดหมายจากปารีส ละครพงศาวดารตอนสิ้นแผ่นดินพระนารายณ์เล่นเรื่องเมืองพระแสง เรื่องน่าคิด ละครพูดเรื่องนักสืบประจำค่ายกักกัน และเมื่อหน่วยพระราชทานขึ้นเขา เป็นต้น

        นวนิยายทุกเล่มที่พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงนิพนธ์จะใช้นามปากกาว่า “ ว.ณ ประมวญมารค ” และจะใช้พระนามจริงเมื่องทรงเขียนเรื่องสารคดีเท่านั้น