ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต" สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 vibhavadirangsitfoundation.com
ซ่อนหน้าต่าง

 
ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิตลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิตลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต


ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต
เมื่อทรงพระเยาว์
กับพระอนุชา หม่อมเจ้าภีศเดช รังสิต

 


          พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ต้นราชสกุล “รัชนี”) ซึ่งในวงการประพันธ์รู้จักดีในนาม น.ม.ส. และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวิภาวดี รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2463 มีพระอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันเพียงพระองค์เดียว คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว ได้ทรงศึกษาหลักสูตรสมบูรณ์ศึกษา ณ โรงเรียนเดียวกันต่อไปอีก 3 ปี จนแตกฉานในภาษาศาสตร์ทั้งไทยและอังกฤษ นอกจากนี้ยังทรงเป็น “นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีที่มีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง ตรัสภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว”

          พระองค์เจ้าวิภาวดีฯ ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2489 ทรงได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระธิดาด้วยกัน 2 คน คือ ม.ร.ว.วิภานันท์ และม.ร.ว. ปรียนันทนา รังสิต


          เป็นที่ทราบและประจักษ์กันทั่วไปว่าพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเป็นเจ้านาย ที่ไม่ถือพระองค์ เข้ากับคนได้ทุกชั้นวัย ทรงมีเมตตากรุณาและทรงชอบช่วยเหลือผู้อื่น คุณลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คืออารมณ์ขัน ซึ่งเข้าใจว่าถ่ายทอดมาจากพระบิดาช่วยทำให้โลกของพระองค์หญิงน่ารื่นรมย์มิใช่น้อย
          ในระหว่างที่ทรงศึกษาในโรงเรียน อารมณ์ขันและความซุกซนขี้เล่นของพระองค์หญิงทำความครื้นเครงให้แก่ห้องเรียนอยู่เสมอ เช่นวันหนึ่ง ครูหน้าใหม่คนหนึ่งมาสอน รู้สึกสะดุดใจในความซนของพระองค์หญิง จึงเปิดสมุดรายชื่อดู แล้วอ่านพระนามดังๆ ว่า ม.จ. วิภาวดี และถามอย่างประชดว่า “ม.จ. แปลว่าอะไร” ท่านหญิงทรงตอบทันควันไปว่า “หมาจูค่ะ”

          ถึงแม้จะทรงพ้นวันเรียนไปแล้ว พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตก็ยังทรงมีอารมณ์ขันเสมอ ในปาฐกถาเรื่อง ”ประสบการณ์ที่ปักษ์ใต้”

          ซึ่งทรงบรรยายให้สมาชิกของสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยฟัง เมื่อ พ.ศ. 2517 ก็ได้ทรงแทรกอารมณ์ขันไว้หลายตอน เช่น

          ...คืนหนึ่งขณะที่เราค้างแรมอยู่ในกระต๊อบกลางป่าทึบ นอนเรียงกันเป็นแถว 2 แถว กลางคืนกำลังหลับสนิท ข้าพเจ้าตกใจตื่นขึ้นด้วยเสียงประหลาดๆ ก็ผุดลุกขึ้นนั่ง เท้าไปโดนอะไรเข้าไม่ได้เอาใจใส่ ครั้นรู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงคนละเมอไม่ใช่สัตว์ป่าหรือผีตองเหลืออะไร ก็ลงนอนต่อไป สักครู่ก็หลับ พอเช้าลูกน้องคนหนึ่งที่นอนอยู่ปลายเท้าข้าพเจ้าเมื่อคืน ก็เข้ามาบอกข้าพเจ้าว่า “ฝ่าบาท ฝ่าบาท เมื่อคืนฝ่าบาทของฝ่าบาทมาอยู่บนพระเศียรของกระหม่อม”

          นอกจากอารมณ์ขันแล้วพระองค์หญิงยังทรงกล้าเสี่ยง เป็นพระนิสัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาจนตลอดพระชนม์ชีพ เช่น ทรงหัดขับรถยนต์ทุกเช้าขณะไปโรงเรียน และยังได้ทรงทดลองขับรถรางอีกทั้งได้ทรงตีระฆังรถราง ซึ่งเป็นปุ่มเหล็กที่พื้นรถอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการที่ทรงปฏิบัติภารกิจอยู่เขตของผู้ก่อการร้ายในระยะหลังแห่งพระชนม์ชีพ ก็นับเป็นการกล้าเสี่ยงอย่างยิ่ง

ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต


ลิขสิทธิ์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต

พระองค์หญิงกับ "สีหมอก"

          พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตโปรดสุนัขมากและตลอดพระชนม์ชีพจะมีสุนัขคอยติดตามเสมอมิได้ขาด และได้ทรงหัดท่าแปลกๆ ให้สุนัข เช่น ท่านอนกลิ้ง ท่าขยับเท้าซ้ายขวา และท่าทำเป็นนอนตายซึ่งเป็นที่ดูแล้วน่าขบขันมาก สุนัขที่ติดตามใกล้ชิดพระองค์หญิงตัวสุดท้ายชื่อ “สีหมอก” เต็มไปด้วยความรู้สึกทั้งรักและบูชาพระองค์หญิง และจะตามพระองค์หญิงไม่ให้คลาดสายตา

          “สีหมอก” เศร้าอย่างผิดสังเกตในตอนเช้าวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 “สีหมอก” นอนหมอบนิ่งอยู่ที่พื้นซีเมนต์ด้านข้างของวัง เหมือนไม่มีชีวิตและไม่สนใจแม้แต่จะหันไปดูว่ามีใครต่อใครมากมายแต่งตัวดำเข้ามาในวังบ้าง “สีหมอก” ไม่ได้ขึ้นที่ห้องบรรทมเหมือนเคย แม้ว่าตามธรรมดาแล้ว “สีหมอก” ควรอยู่ที่นั่นแต่เมื่อมีคนถาม “สีหมอกรู้หรือไม่” ตาสีเทาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของ “สีหมอก” ก็กะพริบถี่เหมือนจะบอกว่า “สีหมอก” รู้ดี และหัวใจของ “สีหมอก” ก็แตกสลายเสียแล้ว

          ในด้านคุณสมบัติของกุลสตรี พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเป็นแม่บ้านที่ดี ทรงจัดหาต้นไม้มาปลูกที่วังวิทยุ ทรงทำของเสวยได้อร่อย ซึ่งพระจริยวัตรนี้เพิ่งเริ่มหลังจากที่เสกสมรสแล้ว นอกจากนี้ยังทรงมีฝีมือในงานเย็บปักถักร้อยอีกด้วย เสื้อผ้าของธิดา 2 คน เมื่อยังเล็กพระองค์หญิงก็ทรงตัดเย็บและปักเอง เพราะทรงซื้อแบบเสื้อสำเร็จรูปมาศึกษาและตัดเย็บตามนั้น ครั้นภายหลังเมื่อมีพระภารกิจด้านสังคมมากขึ้นก็มิได้ทรงประกอบอาหารเอง แต่ทรงฝึกข้าหลวงบริวารไว้อย่างเป็นระเบียบ ทุกสิ่งที่ในวังดำเนินแอย่างเรียบร้อยสม่ำเสมอสมพระเกียรติ ไม่ว่าพระองค์หญิงจะประทับอยู่ที่วังหรือเสด็จตามหัวเมืองก็ตาม

          ในระยะหลังแห่งพระชนม์ชีพ พระองค์หญิงสนพระทัยในวิปัสสนากรรมฐานทรงศึกษาเพียงอาทิตย์เดียวสามารถเข้าญาณอวญาณได้ และมีพระทัยมุ่งนิพานอยู่เสมอ ได้ทรงศึกษาในด้านนี้กับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี